วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555



ระบบการสื่อสาร (Communication System)
.....การติดต่อสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือมนุษย์กับเครื่องจักร มีการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนข้อมูลกันและกัน การสื่อสารเป็นขบวนการวัฏจักร






องค์ประกอบของการสื่อสาร ประกอบด้วย 
          1. ผู้ส่งข่าวสาร (Sender)
          2. ข้อมูลข่าวสาร (Message)
          3. สื่อในช่องทางการสื่อสาร (Media)
          4. ผู้รับข่าวสาร (Receivers)
          5. ความเข้าใจและการตอบสนอง

กระบวนการสื่อสาร
.....กระบวนการสื่อสาร (Communication Process) โดยทั่วไปเริ่มต้นจากผู้ส่งข่าวสาร (Sender) ทำหน้าที่เก็บรวบรวมแนวความคิดหรือข้อมูล จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เมื่อต้องการส่งข่าวไปยังผู้รับข่าวสาร ก็จะแปลงแนวความคิดหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องออกมาเป็น ตัวอักษร น้ำเสียง สี การเคลื่อนไหว ฯลฯ ซึ่งเรียกว่าข่าวสาร (Massage) จะได้รับการใส่รหัส(Encoding) แล้วส่งไปยังผู้รับข่าวสาร (Receivers) ผ่านสื่อกลาง (Media) ในช่องทางการสื่อสาร (Communication Channels)ประเภทต่าง ๆ หรืออาจจะถูกส่งจากผู้ส่งข่าวสารไปยังผู้รับข่าวสารโดยตรงก็ได้ ผู้รับข่าวสาร เมื่อได้รับข่าวสารแล้วจะถอดรหัส (Decoding) ตามความเข้าใจและประสบการณ์ในอดีต หรือสภาพแวดล้อมในขณะนั้น และมีปฏิกริยาตอบสนองกลับไปยังผู้ส่งข่าวสารซึ่งอยู่ในรูปขอความรู้ ความเข้าใจ การตอบรับ การปฏิเสธหรือการนิ่งเงียบก็เป็นได้ ทั้งนี้ข่าวสารที่ถูกส่งจากผู้ส่งข่าวสารอาจจะไม่ถึงผู้รับข่าวสารทั้งหมดก็เป็นได้ หรือข่าวสารอาจถูกบิดเบือนไปเพราะในกระบวนการสื่อสาร ย่อมมีโอกาสเกิดสิ่งรบกวน หรือตัวแทรกแซง(Noise or Interferes) ได้ ทุกขั้นตอนของการสื่อสาร





คุณลักษณะของผู้ประสบความสำเร็จในการสื่อสาร
          1. มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ
          2. มีทักษะในการสื่อสาร
          3. เป็นคนช่างสังเกต เรียนรู้ได้เร็ว และมีความจำดี
          4. มีความซื่อตรง มีความกล้าที่จะกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง
          5. มีความคิดสุขุม รอบคอบ
          6. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
          7. คิดและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
          8. มีความสามารถแยกแยะและจัดระเบียบข่าวสารต่าง ๆ
          9. มีความสามารถในการเขียนได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
          10. มีศิลปะและเทคนิคการจูงใจคน
          11. รู้ขั้นตอนการทำงาน
          12. มีมนุษยสัมพันธ์ดี

ระบบการสอน (Learning System )
.....เป็นการนำเอาวิธีระบบ หรือการจัดระบบมาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลที่ป้อน (Input) กระบวนการ(Process) และมีผลผลิต (Output) เช่น ระบบการสอน จะมีองค์ประกอบย่อย ๆ เช่น ระบบครูผู้สอน ระบบนักเรียน ระบบสื่อการสอน ระบบการเลือกและใช้สื่อการสอน หรือแหล่งการเรียนรู้ ซึ่งหน่วยย่อยเหล่านี้ สามารถทำงานในหน้าที่ของตนอย่างมีอิสระ แต่ถ้าหน่วยย่อยนั้นมีการเปลี่ยนแปลงก็จะส่งผลกระทบถึงหน่วยย่อยอื่น ๆ ด้วย                
.....ระบบการสอนที่มีการออกแบบโดยใช้วิธีระบบ (Systematic approach) มีการทดลองใช้อย่างกว้างขวาง มีการกำหนดขั้นตอนการสอน เช่น มีการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ การใช้แหล่งความรู้ ให้สามารถตอบสนองต่อความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน เช่น วัย เพศ อัตราการเรียนรู้ ความสามารถทางด้านสติปัญญา ความสนใจ ความถนัด ประสบการณ์เดิม ตลอดจนพื้นฐานทางวัฒนธรรม ซึ่งครูผู้สอนและนักเทคโนโลยีการศึกษา จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการออกแบบพัฒนาระบบการสอน






การออกแบบระบบการสอน   ได้มีนักการศึกษาไว้ดังนี้
.....โพแฟม และเบเกอร์ (James W. Popham, and Baker, 1970) ได้ออกแบบระบบการสอนโดยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้ 
          1. กำหนดวัตถุประสงค์ 
          2. พิจารณาพื้นฐานผู้เรียน 
          3. วางแผนกิจกรรมการเรียนการสอน 
          4. ประเมินผล
.....เบราน์และคณะ (Brown and others, 1986) เป็นระบบการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียน และมีการวิเคราะห์ผู้เรียน เพื่อที่จะสามารถจัดการเรียนการสอนซึ่งตอบสนองความแตกต่างของผู้เรียน ดังมีรายละเอียดดังนี้
          - เป้าหมาย (goals) เพราะในการเรียนการสอนหรือการฝึกอบรมก็ตามจำเป็นต้องมีจุดประสงค์ จุดมุ่งหมาย ซึ่งจุดประสงค์ต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องนำไปเขียนเป็นจุดประสงค์การเรียนรู้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้านดังนี้
               1. ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) เกี่ยวข้องกับความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผล
               2. ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) เกี่ยวข้องกับเจตคติ และความรู้สึกนึกคิด เช่น ความรู้สึกซาบซึ้งต่อดนตรี หรืองานศิลปะ เป็นต้น
               3. ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) เป็นเรื่องเกี่ยวกับทักษะต่าง ๆ เช่น ทักษะการเล่นฟุตบอล ทักษะการพิมพ์ หรือทักษะการประดิษฐ์ตัวอักษร เป็นต้น
          - สภาพการณ์ (Conditions) หมายถึง ประสบการณ์การเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียน สามารถทำให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยยึดหลักการที่ว่า "การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดจากกระทำด้วยตนเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ" ดังนั้น การเลือกรูปแบบของประสบการณ์ และกิจกรรมที่เอื้อให้ผู้เรียนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และสอดคล้องกับรูปแบบการเรียนของผู้เรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ 
          - แหล่งการเรียน (Resources) นับเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญของการจัดการสอน ซึ่งรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมทางกายภาพต่าง ๆ ที่จะเอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ วัสดุ อุปกรณ์รวมถึงบุคลากร ครูผู้สอน ห้องสมุด ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ ผู้ช่วยสอนและอื่น ๆ ซึ่งมีผลโดยตรงหรือทางอ้อมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี
          - ผลลัพธ์ (Outcomes) คือผลที่ได้รับการกิจกรรมการเรียนการอน เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ซึ่ง จะมีการรวบรวมข้อมูลแล้วนำมาเป็นข้อปรับปรุงเพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
.....เกอร์ลาซ และ อีลี (Gerlach and Ely, 1980) ได้เสนอรูปแบบการสอนซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ 9 ประการคือ
          1. กำหนดวัตถุประสงค์ (Specification of Objectives) คือการวัตถุประสงค์ว่าผู้เรียนควรจะสามารถทำสิ่งใดได้บ้าง  
          2. กำหนดเนื้อหา (Specification of Content) เป็นการเลือกเนื้อหาที่จะสามารถช่วยให้ผู้เรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้
         3. พิจารณาพื้นฐานเดิมของผู้เรียน (Assessment of Entering Behaviors) การทราบถึงความรู้พื้นฐานหรือประสบการณ์เดิมของผู้เรียน จะทำให้ผู้สอนสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาพิจารณาก่อนที่จะวางแผนการสอน โดยการวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual differences) ในด้านต่าง ๆ ซึ่งสามารถค้นหาข้อมูลได้จาก
               3.1.บันทึกข้อมูลต่างๆ (Use of Available Records) เช่น ระเบียนสะสม ซึ่งจะบันทึกผลการเรียนด้านต่าง ๆ เช่น สติปัญญา การใช้เหตุผล และภาษา ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับบุคลิกภาพ
               3.2. แบบทดสอบที่ผู้สอนสร้างขึ้น (Teacher - Designed Pretest) เพื่อทดสอบถึงความรู้พื้นฐานหรือประสบการณ์เดิมของผู้เรียนเกี่ยวกับเรื่องที่จะสอน ทำให้ผู้สอนได้ทราบถึงความสามารถ(Learners' abilities) ความถนัด (Aptitudes) ของผู้เรียน อันจะเป็นข้อมูล เพื่อใช้ในการแนะนำผู้เรียน และในการวางแผนการจัดประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้ในอนาคต
               3.3. เลือกยุทธศาสตร์และเทคนิคการสอน (Determination of Strategy and Techniques) คือ วิธีการที่ครูใช้ในการให้ข้อมูล ในการเลือกแหล่งการเรียนรู้ และบทบาทของผู้เรียน ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 
                    3.3.1. การบรรยาย (Expository Approach) จะเป็นวิธีการสอนแบบดั้งเดิม ที่เน้นครูเป็นผู้นำเสนอข้อมูลต่าง ๆ
                    3.3.2. วิธีการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Approach) วิธีการนี้บทบาทของครูจะเป็นผู้อำนวยการในการจัดประสบการณ์ โดยการตั้งคำถาม สร้างเงื่อนไขให้ผู้เรียนได้เสาะแสวงหาคำตอบในการแก้ปัญหา โดยใช้ ข้อมูล ตำรา หนังสือ วัสดุ และผู้เรียนจะต้องพยายาม รวบรวม (Organize) จัดระบบข้อมูล ความรู้ต่าง ๆ โดยผู้เรียนจะต้องทำกิจกรรมด้วยตัวเอง (Active participations) ในที่สุดจะได้เป็นข้อสรุปที่สามารถนำไปใช้ในการวางแผนการดำเนินการเรียนการสอนได้
          4. จัดกลุ่มผู้เรียน (Oganization of Students into Groups) เป็นการจัดกลุ่มเรียน เช่น เรียนร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก หรือโดยการบรรยายเป็นกลุ่มใหญ่ หรือเป็นรายบุคคล ระหว่างครูและกลุ่มผู้เรียนเท่านั้น
          5. กำหนดเวลาเรียน (Allocation of Time) การเลือกยุทธวิธี เทคนิคต่าง ๆ นั้นล้วนมีผลต่อการเลือกและกำหนดเวลาเรียนที่เหมาะสมทั้งสิ้น เช่น เนื้อหาวิชา วัตถุประสงค์ สถานที่เรียน รูปแบบการบริหาร ความสามารถ และความสนใจของผู้เรียน 
          6. กำหนดสถานที่เรียน (Allocate of Learning Space) จะขึ้นอยู่กับขนาดของกลุ่มผู้เรียน วิธีการสอน คือ 
               6.1. ห้องสำหรับกลุ่มใหญ่ เรียนได้ครั้งละ 30-50 คน
               6.2. ห้องขนาดเล็ก ใช้สำหรับการเรียนการสอนกลุ่มย่อย หรือการอภิปราย
               6.3. ห้องเรียนแบบรายบุคคล อาจเป็นศูนย์สื่อที่จัดไว้สำหรับเรียนเป็นรายบุคคล
          7. การกำหนดแหล่งการเรียนรู้ (Allocation of Resources) เป็นการเลือกแหล่งการเรียน หรือสื่อการสอน ซึ่งสามารถสนองตอบวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เช่น ภาพนิ่ง เสียง ภาพเคลื่อนไหว โทรทัศน์ ของจริง สื่อบุคคล หุ่นจำลอง สถานการณ์จำลอง และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
          8. ประเมินผล (Evaluation of Performance) เป็นการประเมินผลพฤติกรรมของผู้เรียนอันเกิดจากปฏิสัมพันธ์ ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน หรือ ผู้เรียนกับผู้เรียน และผู้เรียนกับสื่อการสอน การประเมินผลเป็นส่วนสุดท้ายในการวางแผนรูปแบบการสอน ที่ยึดวัตถุประสงค์เป็นหลัก 
          9. วิเคราะห์ข้อมูลย้อนกลับ (Analysis of Feedback) หลังจากที่ได้ประเมินผลการเรียนการสอนแล้วจะทำให้ทราบว่า การเรียนการสอนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้มากน้อยเพียงใด หากมีข้อบกพร่องก็สามารถวิเคราะห์ผล แล้วย้อนกลับมาเพื่อพิจารณาองค์ประกอบย่อยต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มกระบวนการ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขระบบการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และควรวิเคราะห์ข้อมูลย้อนกลับให้รวดเร็วที่สุด มิใช่เพียงเฉพาะผู้สอนเท่านั้นแต่รวมถึงผู้เรียนด้วย






ระบบการเรียนการสอน 
.....ระบบการเรียนการสอน ก็คือ การจัดองค์ประกอบของการเรียนการสอนให้มีความสัมพันธ์กันเพื่อสะดวกต่อการนำไปสู่จุดหมายปลายทางของการเรียนการสอนที่ได้กำหนดไว้ 

องค์ประกอบของระบบการเรียนการสอน 
.....ระบบการเรียนการสอนประกอบด้วยส่วนย่อยๆ ต่าง ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันและกัน ส่วนที่สำคัญคือกระบวนการเรียนการสอน ผู้สอนและผู้เรียน ยูเนสโก ( UNESCO ) ได้เสนอรูปแบบขององค์ประกอบของระบบการเรียนการสอนไว้ โดยมีองค์ประกอบ 6 ส่วน คือ
          1. องค์ประกอบของการสอนจะประกอบด้วย ผู้สอน ผู้เรียน สื่อ การเรียนการสอน  วิธีสอนซึ่งทำงานประสานสัมพันธ์กัน อันจะเป็นพาหะหรือแนวทางผสมกลมกลืนกับเนื้อหาวิชา
           2. กิจกรรมการเรียนการสอน จะต้องมีสื่อการเรียนการสอนและแหล่งที่มาของสื่อการเรียนการสอนเหล่านั้น3. ผู้สอนต้องหาแนวทาง แนะนำช่วยเหลือผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุด
          4. การเสริมกำลังใจ การจูงใจแก่ผู้เรียน นับว่ามีอิทธิพลต่อการที่จะเสริมสร้างความสนใจ ให้การเรียนการสอนมีคุณภาพ
          5. การประเมินผล ผลที่ออกมาอย่างมีประสิทธิภาพโดยการประเมินทั้งระบบ เพื่อดูว่าผลที่ได้นั้นเป็นอย่างไร เป็นการนำข้อมูล ข้อเท็จจริงมาเปรียบเทียบกับประสิทธิผลของระบบ เพื่อการแก้ไขปรับปรุงต่อไป
          6. ผลที่ได้รับทั้งประเมิน เพื่อประเมินผลในการปรับปรุงและเปรียบเทียบกับการลงทุนในทางการศึกษาว่าเป็นอย่างไร นอกจากนี้ บุญชม ศรีสะอาด ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของระบบการเรียนการสอนได้แก่ ตัวป้อน กระบวนการ และผลิต ดังภาพ




     ตัวป้อน ( Input ) หรือ ปัจจัยนำเข้าระบบ คือ ส่วนประกอบต่างๆ ที่นำเข้าสู่ระบบได้แก่ ผู้สอน ผู้สอน ผู้เรียน หลักสูตร สิ่งอำนวยความสะดวก
     ผู้สอน หรือครู  เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การเรียนการสอนบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณลักษณะหลายประการได้แก่คุณลักษณะด้านพุทธิพิสัย เช่น ความรู้ ความสามารถความรู้จำแนกเป็นความรู้ในเนื้อหาสาระที่สอน ความรู้ในเทคนิคการสอนต่าง ความตั้งใจในการสอน ฯลฯ
     ผู้เรียน ผู้เรียนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในระบบการเรียนการสอนซึ่งจะบรรลุผลสำเร็จได้ย่อมขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของผู้เรียนหลายประการ เช่น ความถนัด ความรู้พื้นฐานเดิม ความพร้อมความสนใจและความพากเพียรในการเรียนทักษะในการเรียนรู้ ฯลฯ

หลักสูตร หลักสูตรเป็นองค์ประกอบหลักทีจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ หลักสูตรประกอบด้วยองค์ประกอบพื้นฐาน 4 ประการคือ
          - วัตถุประสงค์การเรียนรู้ 
          - เนื้อหาสาระที่เรียน
          - กิจกรรมการเรียนการสอน (รวมวิธีสอนและสื่อการเรียนการสอน) และ
          - การประเมินผล

ขั้นตอนของการออกแบบระบบการเรียนการสอน  เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้นตอนใหญ่ๆ ดังนี้
          1. กำหนดเนื้อหาและจุดมุ่งหมาย (GOALS) การจัดการเรียนการสอนที่ดีจะต้องกำหนดจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมาย ของการเรียนที่ชัดเจน แล้วจึงนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ให้เป็นเป้าหมายย่อย หรือวัตถุประสงค์ย่อย
          2. การทดสอบก่อนการเรียน  (Pre Test) เพื่อให้ทราบถึงพื้นฐานความรู้หรือพฤติกรรมเดิมของผู้เรียน ผู้สอนจะทราบว่าผู้เรียนมีความรู้ในระดับใด ซึ่งจะช่วยให้ผู้สอนสามารถปรับปรุงและวางแผนการสอนได้
          3. ออกแบบกิจกรรมและวิธีการสอน (Activities) โดยคำนึงถึงผู้เรียนเป็นหลัก เวลา สถานที่ สภาพแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับยุทธศาสตร์การสอน มุ่งให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมให้ได้รับผลสำเร็จ
          4. การทดสอบหลังการเรียน  (Post Test) มุ่งหวังเพื่อวัดและประเมินผล
               4.1 วัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นรายบุคคล
               4.2 วัดความสำเร็จของหลักสูตรหรือระบบการเรียนการสอน



แผนผังระบบการเรียนการสอน


แผนผังแสดงการออกแบบการสอน
รูปแบบการออกแบบระบบการเรียนการชนิดต่างๆ ของนักการศึกษา  Instruction Design Model


การเรียนรู้กับการเรียนการสอน
          1. การเรียนรู้ (Learning) การเรียนรู้โดยทั่วไป หมายถึง ความสัมพันธ์ต่างๆ จนถึงขั้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือมีความสามารถในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรืออาจหมายถึงกระบวนการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้โดยทั่วไปมักเน้นผลที่เกิดจากการกระทำ
          2. การสอน (Instruction) หมายถึง การจัดประสบการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนการให้การศึกษาและการฝึกอบรมโดยทั่วไป ถือว่าเป็นหน้าที่ของครูสื่อสาร และวิธีสอน
               2.1. สื่อ ( Medium หรือ Media) สื่อเป็นช่องทางของการสื่อสาร (Communication) มาจากรากศัพท์ภาษาลาติน หมายถึง ระหว่าง (Between) หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่เป็นพาหะนำความรู้หรือสารสนเทศ (Information) ระหว่างผู้สื่อกับผู้รับเพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสาร ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ รูปภาพ สิ่งพิมพ์ คอมพิวเตอร์ ผู้สอนและอื่นๆ ซึ่งเมื่อใช้สิ่งเหล่านี้นำสารเพื่อการเรียนการสอน เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า  สื่อการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน (Instructional Media) สื่ออาจมีหลายรูปแบบ หรือหลายลักษณะ (Format)แม้แต่สื่อประเภทเดียวกัน ก็อาจมีรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น ภาพยนตร์ มีทั้งขนาด 8 16 และ 35 มิลลิเมตร เทปคาสเสทก็เป็นสื่ออีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นสื่อเกี่ยวกับเสียง และสิ่งพิมพ์ เป็นสื่อในรูปแบบของภาษา (Verbal) เป็นต้น วัสดุ (Material s ) หมายถึงสิ่งต่างๆ ที่เป็นชิ้นหรือเป็นอัน เมื่อนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน อาจเรียกว่า วัสดุการสอนหรือวัสดุการเรียนการสอน โสตทัศนวัสดุ (Audio visual Material s ) หมายถึง วัสดุ อุปกรณ์และกิจกรรมต่างๆ (หรือประสบการณ์ทางการศึกษา) ทั้งหลายที่จัดขึ้นมา เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านทางประสาทสัมผัส 
               2.2. สาร (Messages) ในกิจกรรมการเรียนการสอนใดๆ ก็ตาม ย่อมมีสาร หรือเนื้อหาสารในการสื่อสารการสอน ซึ่งสารดังกล่าวอาจจะเป็นเนื้อหาวิชา แนวทางการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คำถามเกี่ยวเรื่องที่ศึกษาคำตอบ หรือคำอธิบายรวมทั้งข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับสารก็คือ สื่อจะเป็นพาหะนำสาร
          3. วิธีสอน วิธีสอน (Instructional Methods) โดยทั่วไป มักอธิบายในลักษณะของการนำเสนอแบบต่างๆ (Presentation Forms)เช่น การบรรยาย และการอภิปราย เป็นต้น วิธีสอนกับสื่อการสอนไม่เหมือนกัน วิธีสอนเป็นลักษณะของกระบวนการที่ใช้ในการสอน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์การเรียน หรือเนื้อหาสาระในการเรียน ส่วนสื่อเป็นเพียงพาหะนำสารหรือเนื้อหาความรู้ (Information) ระหว่างผู้สื่อกับผู้รับการสื่อสารการสอนการสอน เป็นการจัดสภาพแวดล้อมและเนื้อหาความรู้ (Information) เพื่อเกื้อหนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ การส่งผ่านความรู้จากผู้สอนไปยังผู้เรียนเป็นการสื่อสาร จากหลักการสื่อสารจะเห็นว่าการสื่อสารกับการเรียนการสอนมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก จนกล่าวได้ว่าการเรียนการสอนเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง




เทคโนโลยีเพื่อการเรียน
.....เทคโนโลยี (Technology) คำว่า เทคโนโลยี อาจให้ความหมายได้ 3 ทัศนะ ดังนี้
          1. เทคโนโลยีในลักษณะที่เป็นกระบวนการ (Technology as a P recess) หมายถึง การประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือความรู้อื่นๆ ในการปฏิบัติภารกิจอย่างมีระบบ
          2. เทคโนโลยีในลักษณะที่เป็นผลผลิต (Technology as P redact) หมายถึง เครื่องมือ (Hardware) และวัสดุ (Software) อันเป็นผลมาจากการประยุกต์ใช้กระบวนการทางเทคโนโลยี ฟิล์มภาพยนตร์เป็นวัสดุ เครื่องฉายภาพยนตร์เป็นเครื่องมือ และต่างก็เป็นผลผลิตของเทคโนโลยี
          3. เทคโนโลยีในลักษณะที่เป็นทั้งกระบวนการและผลิตผล (Technology as a Mix of Process and Product) เป็นการกล่าวถึง เทคโนโลยีในแง่ (1) การใช้วิธีการ และเครื่องมือหรือวัสดุร่วมกันในเวลาเดียวกัน (2) การใช้เครื่องมือและวิธีการแยกจากกันในเวลาเดียวกัน เช่น เทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์ เป็นการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์กับวัสดุ (Software หรือ Program) อย่างสัมพันธ์กัน
.....การนำสื่อโสตทัศน์ทั้งหลายมาใช้ในการปรับปรุงการสื่อสารและการเรียนการสอน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเป็นวัสดุหรืออุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่งเป็นผลิตผลของเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนมีความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งไปกว่าการสื่อสาร เทคโนโลยีในฐานะที่เป็นวิธีการหรือกระบวนการ (Technology as a P recess) จึงเป็นสิ่งสำคัญในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาต่างๆ ทางการสอนในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
 .....เทคโนโลยี เป็นการประยุกต์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และแขนงวิชาอื่นๆ มาใช้ในการปฏิบัติภารกิจ ดังนั้น เทคโนโลยีการสอน จึงหมายถึงการประยุกต์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และแขนงวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ดังนั้น เทคโนโลยีการสอน จึงเป็นการออกแบบระบบการเรียนการสอนเพื่อให้สามารถจัดความรู้ ทักษะ และเจตคติหรือการเรียนรู้ทั้งหลายให้แก่ผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.....เทคโนโลยีการสอนได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนและก่อให้เกิดวิธีหรือแนวปฏิบัติใหม่ๆ หรือที่เรียกว่า นวกรรมการสอนขึ้นมาหลายรูปแบบ เช่น การสอนแบบโปรแกรม (Programmed Instruction) คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer - Based Instruction : CB) การสอนโดยใช้ระบบเสียง (Audio-tutorial Systems) การสอนแบบโมดุล (Modular Instruction) เกมและสถานการณ์จำลอง (Game and Simulation) เป็นต้น เทคโนโลยีการสอนบางลักษณะจึงเป็นการใช้สื่อโสตทัศน์และหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งสิ่งพิมพ์ต่างๆ ร่วมกันในลักษณะของสื่อประสม (Miltie media) แต่เทคโนโลยีการสอนจะมีลักษณะเฉพาะ ที่แตกต่างไปจากการใช้สื่อการเรียนการสอนแบบธรรมดา กล่าวคือ เทคโนโลยีการสอน จะเน้นผู้เรียนและกระบวนการเรียนการสอน และยึดหลักการเรียนรู้ของมนุษย์เป็นสำคัญ
.....บทเรียนโปรแกรมเป็นตัวอย่างที่ดีของเทคโนโลยีการสอน บทเรียนโปรแกรมยึดหลักการเรียนรู้ของมนุษย์ โดยเฉพาะทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม ซึ่งสกินเนอร์ (B. F. Skinner) ได้พัฒนาบทเรียนโปรแกรมขึ้นมา โดยจัดบทเรียนเป็นขั้นตอนสั้นๆ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน ผู้เรียนได้รับข้อมูลย้อนกลับทุกขั้นตอนการเรียนและได้รับการเสริมแรง เมื่อตอบสนองถูกต้อง การเสริมแรงและข้อมูลย้อนกลับเป็นผลแห่งความรู้ (Knowledge of Results) หรือเกิดการเรียนรู้ขึ้นมาในตัวผู้เรียนนั่นเอง ดังนั้น การสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรมหรือการสอนแบบโปรแกรม จึงเป็นกระบวนการที่ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียน (Active Process) ไม่ใช่ผู้เรียนรอรับความรู้แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งต่างจากการสื่อสาร การสื่อสารเป็นเพียงบันไดขั้นแรกของการเรียนรู้เท่านั้น






บทบาทของสื่อในการเรียนการสอน
.....สื่อและเทคโนโลยีการสอน สนับสนุนยุทธวิธีเบื้องต้นของการเรียนการสอนได้หลายประการ ที่สำคัญสรุปได้ดังนี้
          1. ใช้สื่อ/เทคโนโลยีช่วยการสอนของครู การใช้สื่อลักษณะนี้เป็นวิธีที่เรารู้จักและคุ้นเคยมากที่สุด โดยครูนำสื่อมาใช้เพื่อช่วยการสอน การใช้สื่อในลักษณะนี้จะช่วยให้การสอนสัมฤทธิ์ผลมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความสามารถของครู ดังนั้น ถ้าครูจะนำสื่อมาใช้ช่วยในการสอน ครูจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับหลักสูตร ระบบการสอนและเทคนิคต่างๆ ในการใช้สื่อ รวมทั้งการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
          2. สื่อช่วยผู้เรียนฝึกทักษะและการปฏิบัติได้ เป็นการจัดสื่อไว้ในลักษณะห้องปฏิบัติการ โดยผู้เรียนเป็นผู้ใช้ภายใต้การชี้แนะของครู เช่น การใช้ห้องปฏิบัติการทางภาษา การเรียนจากบทเรียนโปรแกรม ตลอดจนการฝึกปฏิบัติอื่นๆ และการทำแบบฝึกหัดหรือการค้นคว้าด้วยตนเอง เป็นต้น
          3. ช่วยการเรียนแบบค้นพบ สื่อการสอนสามารถช่วยการจัดการเรียนการสอนแบบค้นพบหรือการสอนแบบสืบเสาะ (Inquiry Approach) ได้เป็นอย่างดี เช่น การใช้วิดีโอช่วยสอนวิทยา ศาสตร์กายภาพ เพื่อให้ผู้เรียนเฝ้าสังเกตภาพและเนื้อหา จนสามารถค้นพบข้อสรุปหรือหลักการต่างๆ ได้
          4. สื่อช่วยจัดการเกี่ยวกับการสอน สื่อการเรียนการสอนสามารถช่วยให้ผู้เรียนกับผู้สอนมีปฏิสัมพันธ์หรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ดังนั้น สื่อและเทคโนโลยี จึงทำให้บทบาทของครูเปลี่ยนไปจากการเป็นผู้บอกความรู้ มาเป็นผู้จัดการและร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนทำให้สามารถ จัดรูปแบบการเรียนการสอนขึ้นมาหลายลักษณะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียน ปัญหาและสื่อต่างๆ ที่จัดขึ้นมาเพื่อการเรียนการสอนนั้นๆ เช่น 1) การสอนแบบเอกัตบุคคล 2) การสอนแบบกลุ่มเล็ก 3) การสอนแบบกลุ่มใหญ่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการสอนแบบใด ครูก็สามารถใช้สื่อและเทคโนโลยีเข้าช่วยในการจัดการเกี่ยวกับการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นครูยังสามารถกำหนดเวลาและกิจกรรมการเรียนได้อย่างเหมาะสม ตามลักษณะของสื่อที่นำมาใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนนั้นๆ
          5. สื่อ/เทคโนโลยีในการสอนแบบเอกัตบุคคล การสอนแบบเอกัตบุคคลเป็นวิธีสอนที่กำลังได้รับความสนใจกันมากในปัจจุบัน การสอนแบบนี้มุ่งให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเอง หรือเรียนเป็นรายบุคคลภายใต้คำแนะนำหรือการชี้แนะของครู โดยอาศัยระบบสื่อที่จัดขึ้นไว้ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนตามจุดมุ่งหมายของการสอน
          6. ช่วยการศึกษาพิเศษ สื่อการสอนสามารถจัดขึ้นมาเพื่อช่วยให้การศึกษาแก่คนพิการได้เป็นอย่างดี เรียกว่าสื่อช่วยในการจัดการศึกษาพิเศษได้
          7. สื่อการสอนกับการศึกษานอกระบบ จากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความรู้ทางวิชาการ สื่อการสอนมีบทบาทสำคัญยิ่งในการให้การศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในหรือ นอกห้องเรียน ตลอดจนการศึกษาแบบทาง




สื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอน
.....สื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอนนั้น คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบเพื่อใช้ในการเรียนการสอน โดยผู้ออกแบบหรือกลุ่มผู้ผลิตโปรแกรมได้บูรณาการเอาข้อมูลรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง วีดิทัศน์ และข้อความ เข้าไปเป็นองค์ประกอบเพื่อการสื่อสารและการให้ประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง การออกแบบสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษานี้ มีข้อแตกต่างจากสื่อมัลติมีเดียที่ใช้เพื่อการนำเสนอข้อมูลหรือการประชาสัมพันธ์

สื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอน มีจุดประสงค์หลักๆ ดังนี้ 
          - เป้าหมายคือ การสอน อาจใช้ช่วยในการสอนหรือสอนเสริมก็ได้ 
          - ผู้เรียนใช้เรียนด้วยตนเอง หรือเรียนเป็นกลุ่มย่อย 2-3 คน
          - มีวัตถุประสงค์ทั่วไปและวัตถุเฉพาะ โดยครอบคลุมทักษะความรู้ ความจำ ความเข้าใจ และเจตคติ ส่วนจะเน้นอย่างใดมากน้อย ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และโครงสร้างของเนื้อหา
          - เป็นลักษณะการสื่อสารแบบสองทาง
          - ใช้เพื่อการเรียนการสอน แต่ไม่จำกัดว่าต้องอยู่ในระบบโรงเรียนเท่านั้น
          - ระบบคอมพิวเตอร์สื่อมัลติมีเดียเป็นชุดของฮาร์ดแวร์ที่ใช้ในการส่งและรับข้อมูล
          - รูปแบบการสอนจะเน้นการออกแบบการสอน การมีปฏิสัมพันธ์ การตรวจสอบความรู้โดยประยุกต์ทฤษฎีจิตวิทยา และทฤษฎีการเรียนรู้เป็นหลัก
          - โปรแกรมได้รับการออกแบบให้ผู้เรียนเป็นผู้ควบคุมกิจกรรมการเรียนทั้งหมด
          - การตรวจสอบประสิทธิภาพของสื่อ นับเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องกระทำ

สื่อมัลติมีเดียเพื่อการนำเสนอข้อมูล มีจุดประสงค์หลักๆ ดังนี้
          - เป้าหมายคือ การนำเสนอข้อมูลเพื่อประกอบการคิด การตัดสินใจ ใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพ
          - ผู้รับข้อมูลอาจเป็นรายบุคคล กลุ่มย่อย จนถึงกลุ่มใหญ่
          - มีวัตถุประสงค์ทั่วไปเพื่อเน้นความรู้และทัศนคติ
          - เป็นลักษณะการสื่อสารแบบทางเดียว
          - ใช้มากในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์งานด้านธุรกิจ
          - อาจต้องใช้อุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ เพื่อเสนอข้อมูลที่มีความซับซ้อน หรือเพื่อต้องการให้ผู้ชมได้ชื่นชม และคล้อยตาม
          - เน้นโครงสร้างและรูปแบบการให้ข้อมูลเป็นต้น ไม่ตรวจสอบความรู้ของผู้รับข้อมูล
          - โปรแกรมส่วนมากจะควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือผู้นำเสนอ

.....สื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอนนับเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่นักการศึกษาให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง พัฒนาการของสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอนในประเทศตะวันตก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา มีความรุดหน้าอย่างเด่นชัด ยิ่งเมื่อมองภาพการใช้งานร่วมกับระบบเครือข่ายด้วยแล้ว บทบาทของสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอนจะยิ่งโดดเด่นไปอีกนานอย่างไร้ขอบเขต รูปแบบต่างๆ ของสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอนได้รับการพัฒนาขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งเมื่อกล่าวถึงสื่อมัลติมีเดีย ทุกคนจะมองภาพตรงกัน คือ การผสมผสานสื่อหลากหลายรูปแบบเพื่อนำเสนอผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ในปัจจุบันสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอนได้รับการบันทึกไว้บนแผ่นซีดีรอมและเรียกบทเรียนลักษณะนี้ว่า CAI เมื่อกล่าวถึง CAI จึงหมายถึงสื่อมัลติมีเดียที่นำเสนอบทเรียนโดยมีภาพ และเสียงเป็นองค์ประกอบหลัก โดยภาพและเสียงเหล่านี้อาจอยู่ในรูปแบบของข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือวีดิทัศน์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบบทเรียน ส่วนเสียงนั้นจะมีทั้งเสียงจริง เสียงบรรยาย และอื่นๆ ที่เหมาะสม โดยทั้งหมดนี้จะถ่ายทอดผ่านระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งต่อเป็นระบบเครือข่ายหรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
.....เมื่อเทคโนโลยีเครือข่ายมีความก้าวหน้ามากขึ้น การเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่ายก็ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นตามลำดับเช่นกัน เครือข่ายใยแมงมุมโลกหรือที่เรียกทั่วไปว่า เว็บ (Web) ได้รับการพัฒนาและการตอบสนองจากผู้ใช้อย่างรวดเร็ว เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เว็บกลายเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารที่ธุรกิจทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งรวมทั้งธุรกิจด้านการศึกษาด้วย โดยเฉพาะด้านการศึกษานั้น เว็บได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกหนทุกแห่งในโลกมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในเว็บได้ใกล้เคียงกัน
.....การเรียนการสอนบนเว็บ (Web-Based Instruction) ได้รับความสนใจจากนักการศึกษาเป็นอย่างมาก ในช่วง ค.ศ. 1995 ถึงปัจจุบัน งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบการเรียนการสอนทั้งระบบการสอน และการออกแบบบทเรียนได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการพัฒนาโปรแกรมสร้างบทเรียนหรืองานด้านมัลติมีเดียเพื่อสนับสนุนการสร้างบทเรียนบนเว็บมีความก้าวหน้ามากขึ้น โปรแกรมสนับสนุนการสร้างงานเหล่านี้ล้วนมีคุณภาพสูง ใช้งานง่าย เช่น โปรแกรม Microsoft FrontPage โปรแกรม Dream Weaver โปรแกรม Macromedia Director โปรแกรม Macromedia Flash และโปรแกรม Firework นอกจากโปรแกรมดังกล่าวแล้ว โปรแกรมช่วยสร้างสื่อมัลติมีเดียอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมในการนำมาสร้างบทเรียนมัลติมีเดียเพื่อการเรียนการสอน เช่น Macromedia Authorware และ ToolBook ก็ได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้งานบนเว็บได้ การเปลี่ยนแปลงรวมทั้งบทบาทของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ส่งผลต่อการจัดรูปแบบการเรียนการสอนนี้เอง ที่ทำให้การเรียนการสอนทางไกลการฝึกอบรมทางไกล รวมทั้งการเรียนการสอนในลักษณะของการอภิปรายโต้ตอบทั้งกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อย ซึ่งทำได้ยากและต้องเสียค่าใช้จ่ายมากจะเป็นเรื่องที่ไม่แปลกใหม่ในอนาคต